ความหมายที่แท้ของคำว่า "ครอบครัว"

บทความโดย พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1

"ครอบครัว" เป็นหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด และอยู่ใกล้ตัวมากที่สุด บางครอบครัวประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก บางครอบครัวประกอบด้วยพ่อ ลูก หรือแม่ ลูก

บางครอบครัวยังประกอบด้วย น้าหรืออา หรือลุงหรือป้า หรือปู่ ย่า ตา ยาย และหลาน ซึ่งพบมากในชนบท ที่ซึ่งผู้เป็นบิดามารดามีเหตุผลส่วนตัวที่จะต้องออกมาหางานทำในเมืองกรุง แล้วฝากลูกไว้กับทางบ้าน ส่วนตัวเองคอยส่งเงินเป็นค่าเลี้ยงดูทางร่างกายและจิตใจแก่ลูกน้อย

ความจริงแล้ว ธรรมชาติการดำเนินไปของครอบครัวมีลักษณะเป็นวงจร (Family Life Cycle) ต่อไปนี้คือ ระยะผู้ใหญ่เต็มตัว แต่งงานและสร้า้งครอบครัวใหม่ ครอบครัวที่มีลูกเล็ก ครอบครัวที่มีลูกวัยเรียน ครอบครัวที่มีลูกโตเป็นวัยรุ่น ลูกแยกไปจากครอบครัว ครอบครัวในระยะกลาง และระยะบั้นปลายของชีวิต ซึ่งในแต่ละช่วงและการเปลี่ยนผ่านจากช่วงหนึ่งสู่อีกช่วงหนึ่ง อาจเกิดสิ่งที่เรียกว่าวิกฤต (Crisis) และต้องอาศัยการปรับตัวเพื่อดำรงไว้ซึ่งความอยู่รอด (Adaptation)

ดังนั้น การที่ครอบครัวหนึ่งจะดำเนินไปได้อย่างปกติสุขนั้น จำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่
Role บทบาทหน้าที่ของสมาชิก
Boundary ขอบเขตระหว่างแต่ละสมาชิก
Hierarchy ลำดับชั้นของอำนาจและความสำคัญของสมาชิก
Discipline กฏ กติกา มารยาท ของแต่ละครอบครัวที่กำหนดขึ้น
ในทางพุทธศาสนา ได้มีการวางแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เป็นส่วนประกอบของครอบครัว ดังนี้








หน้าที่ของบิดา มารดา

1. ห้ามบุตรไม่ให้ทำชั่ว
2. แนะนำบุตรให้ตั้งอยู่ในความดี
3. ให้บุตรได้ศึกษาวิชา
4. หาคู่ที่เหมาะสมให้
5. มอบทรัพย์ มรดกให้
(ข้อที่ 1 และ 2 ต้องใช้ความสามารถในการแยกแยะถูกผิดดีชั่วให้ได้ก่อน)

หน้าที่ของบุตร ธิดา
1. เลี้ยงดูบิดา มารดา
2. ทำงานให้บิดา มารดา
3. ดำรงวงศ์ตระกูล
4. รักษามรดก
5. ทำความดีเพื่อบิดา มารดา ผู้ล่วงลับ

หน้าที่ของสามี
1. ยกย่องภรรยา
2. ไม่ดูหมิ่นภรรยา
3. ซื่อสัตย์ต่อภรรยา
4. มอบความเป็นใหญ่ให้
5. ให้เครื่องประดับ

หน้าที่ของภรรยา
1. จัดงานบ้านเรียบร้อยดี
2. รับรองแขกดี
3. ซื่อสัตย์ต่อสามี
4. รักษาทรัพย์ดี
5. ขยันการงานทั้งปวง

และทั้งหมดนี้ นี่แหละคือความหมายของ (ครอบครัว) เมืองพุทธ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น