ปรับตัวอย่างไรเมื่ออยู่ต่างวัฒนธรรม

บทความโดย พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1

พื้นที่ต่างๆ บนโลกใบนี้ ถูกแบ่งโดยอาศัยพิกัดซึ่งเป็นเส้นสมมติบนผิวโลก โดยสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมทั้งมนุษย์เป็นผู้อาศัย แต่ในพื้นที่เดียวกันก็ยังมีมนุษย์อีกหลากหลายเชื้อชาติ ที่มีความเป็นอยู่ ค่านิยม ธรรมเนียม ประเพณีและวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป

เมื่อต้องเดินทางไปยังที่ที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างไปจากที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว เพื่อศึกษาต่อหรือเพื่อประกอบอาชีพก็ตาม สิ่งที่ต้องเผชิญ คือ สภาพความแตกต่างในด้านต่างๆ ที่เห็นได้ชัด เช่น ภาษา ศาสนา ภูมิอากาศ อาหาร ระบบการทำงานและการศึกษา

นอกจากนี้ยังมีในส่วนที่แอบแฝงอยู่ในบริบททางสัคม (Social Contexts) อื่นๆ อีก เช่น
  • ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น นักเรียนกับครู ลูกน้องกับหัวหน้า
  • วิธีการคิด ทัศนคติต่อเหตุการณ์ต่างๆ
  • งานอดิเรกยามว่าง
  • การแสดงออกทางด้านอารมณ์ เช่น สีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง
การที่ต้องเผชิญกับความแตกต่างเหล่านี้ ย่อมก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึุกบางอย่าง ซึ่งแต่ละบุคคลอาจไม่เหมือนกัน เช่น ความไม่มั่นใจในตัวเอง ความวิตกกังวลในความปลอดภัย ความไว้ใจในผู้อื่น ความรู้สึกโดดเดี่ยว ความหงุดหงิดง่าย ปัญหาในการกิน นอน ขับถ่าย ความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนเป็นอย่างมาก ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ แต่เป็นหนึ่งในกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสภาพวัฒนธรรมใหม่

Culture Shock เป็นคำที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ของความวิตกกังวลและความรู้สึกที่บุคคลมีต่อสภาพสังคม วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างมาก ในบางครั้้งอาจรู้สึกขยะแขยง (Disgust) ในสภาวะของสังคมใหม่ ซึ่งสามารถจำแนก Culture Shock ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
  1. Honeymoon Phase เกิดขึ้นขณะเพิ่งจะพบกับความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เต็มไปด้วยความรู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน สนใจสิ่งแวดล้อม
  2. Culture Shock Phase หรือ Negotiation Phase หลังจากช่วง Honeymoon เกิดขึ้น อาจเพียงสอง-สามวัน หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนผ่านไป เริ่มมีความรู้สึกอึดอัดกับสังคมใหม่ กังวลในเรื่องความสะอาดมากกว่าปกติ รู้สึกว่าวัฒนธรรมใหม่นั้นไม่ดี ผู้คนไม่มีมารยาท น่ารังเกียจ จังหวะในการดำรงชีวิตเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากเข้าสังคม เก็บตัว มีความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการกิน การนอน บางคนมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
  3. Adjustment Phase เป็นช่วงที่เริ่มปรับตัวปรับใจให้เข้ากับวัฒนธรรม ไม่มีความรู้สึกอึดอัด ไม่คิดอคติ ยอมรับสิ่งใหม่ในแบบที่เป็นได้ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสบายใจ ช่วงนี้อาจใช้เวลาไม่กี่วันจนอาจนานถึงหลายเดือน
เมื่อสามารถปรัับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ได้เป็นอย่างดีแล้ว และต้องกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน บางคนอาจมีความรู้สึกแบบ Culture Shock ได้ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Reverse Culture Shock แต่พบว่าคนที่มีประสบการณ์การเดินทางบ่อยๆ จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมอื่นได้ดีกว่าคนทั่วไป

เรามีคำแนะนำในการปฏิบัติตัว เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ดังนี้
  • เตรียมศึกษาล่วงหน้าเกี่ยวกับสถานที่ที่กำลังจะไป วัฒนธรรม อาหาร ภูมิอากาศ ค่านิยม ลักษณะนิสัยของคนท้องถิ่น รวมทั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ
  • เตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมที่จะปรับตัวรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง
  • ยอมรับปฏิกิริยาทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ และสามารถหายได้
  • สังเกตและเรียนรู้การดำรงชีวิต การแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ จากคนท้องถิ่นและทดลองทำตาม
  • เปิดใจให้กว้าง ลดอคติ ไม่ใช้อารมณ์ตัดสินสิ่งต่างๆ
  • พยายามเข้า่ร่วมกิจกรรมต่างๆ เท่าที่เป็นไปได้
  • มีอารมณ์ขันอยู่เสมอ แทนที่จะเครียด ขี้บ่น
  • กินอาหารที่ดี (ไม่จำเป็นต้องแพง) นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ไม่จำกัดตัวเองโดยการคบเฉพาะเพื่อนที่มาจากที่เดียวกับเรา
  • ติดต่อกับเพื่อนที่บ้านเกิด ครอบครัวบ้าง เพื่อลดความคิดถึงและความรู้สึกอยากกลับบ้าน

สิ่งสำคัญที่สุดที่มีผลให้การปรับตัวเป็นไปอย่างง่ายหรือยาก คือ ทัศนคติที่ว่าคนทุกชาติทุกภาษา ล้วนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่มีวัฒนธรรมไหนที่ดีกว่า ถูกต้องกว่า เก่งกว่า และสิ่งที่แตกต่างไปจากตัวเอง ไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่ผิด แย่ หรือไม่ดีเสมอไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น