หงุดหงิด-กินจุ ก่อนเมนส์มา

บทความโดย พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1

ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์เกือบทุกคน คงคุ้นเคยกับอาการทางร่างกายและจิตใจ ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนมีรอบเดือน บางคนเกิดช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนมีรอบเดือน บางคน 10 วัน ก่อนที่จะมีรอบเดือน

"เลือดจะไป ลมจะมา" ตามหลักการทำงานของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นเป็นวงจร วงจรละประมาณ 28-30 วันนั้น ทำให้เกิดผลทางร่างกายและอารมณ์หลายอย่าง ซึ่งโดยมากเป็นอาการทางจิตใจที่พบบ่อย คือ
  • หงุดหงิดง่าย รู้สึกไวต่อความรำคาญทุกชนิดอย่างที่ปกติไม่เคยรู้สึก ไม่ว่าจะกับเพื่อนร่วมงาน คนใกล้ชิด พนักงานเสิร์ฟอาหาร คนรับใช้ เพื่อนร่วมท้องถนน ฯลฯ
  • เครียด วิตกกังวลหลายเรื่อง บางครั้งเรื่องไม่เป็นเรื่องก็เอามานั่งคิดให้สมองทำงานหนัก โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ยิ่งคิดแล้วยิ่งหาทางออกไม่เจอ แต่กลับเจอปัญหาเพิ่มขึ้นอีก
  • เบื่อหน่าย ท้อแท้ เศร้า รู้สึกว่าชีวิตตีบตัน ไม่อยากทำอะไรๆ ที่เคยอยากทำ "ขี้เกียจ" เป็นคำที่ใช้รองรับอารมณ์นี้ แต่จริงๆ แล้วไม่อยากทำ คิดว่าทำไปก็ไม่รู้สึกสนุก ฯลฯ
สำหรับคุณผู้หญิงที่มีอาการดังกล่าวนานเกินสิบกว่าวันก่อนที่จะมีประจำเดือน ลองคำนวณดูจะพบว่าในเดือนเดือนหนึ่ง คุณจะมีช่วงปกติแค่เพียงสองสัปดาห์เท่านั้น แล้วในช่วงชีวิตหนึ่งคงมีช่วงปกติแค่เพียงครึ่งชีวิต

แต่ไม่เป็นไร เพราะหลังอ่านคอลัมน์นี้จบ คุณจะรู้ว่ามันก็แค่การเปลี่ยนแปลงของสารเคมี และในเมื่อร่างกายนี้ ชีิวิตนี้ รวมทั้งอารมณ์ ความรู้สึกนี้ล้วนแต่เป็นของเรา (Feelings belong to us) ดังนั้น เราจึงมีความชอบธรรมที่จะควบคุม เปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้นได้

กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนมีรอบเดือน (Premenstrual Syndrome หรือ PMS) ประกอบด้วยอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดตามตัว แน่นท้อง เจ็บเต้านม หิวบ่อย กินจุ นอนไม่หลับ จมูกไวต่อการรับกลิ่น ส่วนอาการทางจิตใจและอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าไม่มีสาเหตุ อารมณ์แปรปรวน ทั้งหลายนี้รวมเรียกว่า Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD

โดยพบว่า PMDD จะเกิดง่ายขึ้นถ้ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มกาแฟมากๆ การสูบบุหรี่ ความเครียด อายุที่มากขึ้น ภาวะขาดวิตามินและประวัติบุคคลในครอบครัวที่มีอาการ PMDD

วิธีป้องกัน ได้แก่
  • รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ไม่ขาดวิตามินและแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม (ได้จากการดื่มนม กินปลาเล็กปลาน้อยทั้งก้าง งา ผักใบเขียวเข้ม)
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด
  • หลีกเลี่ยงกาแฟ บุหรี่และสุรา
  • รักษาน้ำหนักไม่ให้อ้วน
เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้ว วิธีการบำบัดรักษาพื้นฐาน ได้แก่
  • หลีกเลี่ยงของหวาน กาแฟ บุหรี่ สุรา รับประทานผักสด ผลไม้ ธัญพืช หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม นมสด หลีกเลี่ยงเนื้อแดง แนะนำให้รับประทานอาหารมื้อละน้อยๆ อย่ารับประทานครั้งละมากๆ
  • รับประทานอาหารให้เป็นเวลา เพื่อป้องกันท้องอืด
  • ออกกำลังกายวันละ 30 นาที เบาๆ ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนัก
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด
  • ถ้าพบว่าอาการเป็นรุนแรงและรบกวนชีวิตประจำวันมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยการรับประทานยา
อย่าปล่อยให้อารมณ์หงุดหงิดช่วงก่อนมีประจำเืดือน มารบกวนความสุขในการใช้ชีวิตประจำวันของคุณเลยนะคะ



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น