ป่วยกาย อย่าป่วยใจ

บทความโดย พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1

ยามเจ็บไข้ได้ป่วย คนส่วนใหญ่จะไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงการเจ็บป่วยทางกาย เนื่องจากกาย (ร่างกายที่เป็นส่วนของเนื้อ หนัง กระดูก อวัยวะต่างๆ) กับใจ (ซึ่งประกอบไปด้วยความคิดอ่าน ความจำ ความรู้สึก) มีผลต่อเนื่องเชื่อมโยงถึงกันตลอดเวลา ทั้งยามหลับหรือยามตื่น ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ในบางครั้งเกิดขึ้นจากสาเหตุทางร่างกายก่อน แล้วส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต อุบัติเหตุที่นำมาสู่การสูญเสียอวัยวะ โรคต่างๆ ที่มีอาการปวดเป็นหลัก เหล่านี้ย่้อมนำมาสู่ปฏิกิริยาตอบสนองทางจิตใจ อาจเป็นแค่ภาวะเครียดเพียงชั่วคราว แล้วสามารถทำใจยอมรับได้ หรืออาจรุนแรงเข้มข้นขึ้นถึงขั้นมีความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น เมื่อมีสภาวะทางร่างกายที่ผิดไปจากปกติในเรื่องของ
  • Distress คือ ความไม่สบายกาย รู้สึกอึดอัด ปวด เมื่อยล้า อ่อนแรง
  • Disability คือ สภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติ
  • Disfiguring คือ การมีรูปร่างผิดไปจากปกติ
  • Immobility คือ สภาวะที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้







ขั้นแรกสุดนั้น จิตใจจะต้องมีการปรับสมดุลโดยการใช้กลไกทางจิตใจต่างๆ (Defense Mechanism) หรือที่เรียกว่า ปรับใจให้สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยให้มีความอึดอัดเกิดขึ้นน้อยที่สุด แต่ถ้าการปรับใจเกิดขึ้นได้ไม่ดีพอ ก็จะนำไปสู่ความอึดอัด ความเครียด ความกังวลหรือความโกรธ คราวนี้นอกจากเจ็บป่วยทางกายแล้ว ก็ยังเจ็บป่วยทางใจอีกต่อหนึ่งด้วย ที่มากไปกว่านั้นก็คือ ความเครียดทางจิตใจที่เกิดขึ้นนี้ ยังส่งผลทวีความเจ็บความปวดทางร่างกายให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ความเป็นจริงของจิตใจเหล่านี้ มีน้อยคนที่จะตระหนักและรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตัวเอง เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เมื่อยามที่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ขอให้มีสติ ตระหนักรู้เท่าทันร่างกายและจิตใจ ว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติล้วนๆ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) และไม่มีสิ่งใด ร่างกายใด อารมณ์ความรู้สึกใดที่จีรังยั่งยืน (อนิจจัง) การยึดติดในสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ก็ย่อมนำไปสู่ความทุกข์ใจ

เมื่อเจ็บป่วยก็ให้รู้ว่าเจ็บป่วย ดูแลตัวเอง รับการรักษาให้เหมาะสม และระวังอย่าปล่อยให้จิตใจป่วยตามร่างกายไปด้วยนะคะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น