สารบ่งชี้มะเร็ง

การตรวจเลือดชนิดต่างๆ เพื่อหามะเร็ง เช่น ตรวจ CEA, PSA, CA 15-3, Alpha-fetoprotein (AEP) ฯลฯ ที่เราได้ยินจากโปรแกรมตรวจเลือดต่างๆ นั้น เป็นการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง

สารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Maker) คืออะไร
ในภาวะที่เซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็ง กลไกควบคุมการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์จะเสียไป ทำให้เซลล์นั้นๆ แบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมภายในเซลล์ เป็นผลให้มีการสร้างสารแอนติเจนหรือสารอื่นๆ เช่น ฮอร์โมนหรือเอนไซม์ที่ไม่เหมือนเซลล์ปกติ

แอนติเจนเหล่านี้ นอกจากจะพบอยู่ภายในเซลล์และบนผิวหนังของเซลล์แล้ว เซลล์มะเร็งยังสามารถปลดปล่อยสารดังกล่าวออกสู่กระแสเลือด หรือสารคัดหลั่งอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งสารต่างๆ ที่เกิดจากเซลล์มะเร็งเหล่านี้ รวมเรียกว่าเป็นสารบ่งชี้มะเร็ง สารเหล่านี้สามารถตรวจหาได้จากเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำในช่องท้อง น้ำในช่องปอดของผู้ป่วยรายนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การตรวจพบระดับสารบ่งชี้มะเร็งสูงกว่าปกติเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน แต่จำเป็นต้องพิจารณาร่วมไปกับผลการตรวจทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ

การตรวจซ้ำเป็นระยะเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อศึกษาดูว่าระดับของสารดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ถ้าตรวจซ้ำแล้วพบว่าระดับสารบ่งชี้มะเร็งสูงขึ้นเป็นลำดับ จะเป็นเครื่องชี้แนะให้สงสัยโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าตรวจซ้ำแล้วระดับลดลง น่าจะบ่งชี้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง

แต่ถึงแม้ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งแล้วพบว่าระดับอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ไม่ได้ยืนยันแน่นอนว่าบุคคลผู้นั้นไม่ได้เป็นมะเร็ง เนื่องจากระดับสารบ่งชี้มะเร็งมักจะสัมพันธ์กับขนาดหรือระยะของโรคมะเร็ง ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มแรก จึงยังอาจพบระดับสารบ่งชี้มะเร็งปกติได้

สรุปก็คือ การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งจากเลือด เป็นการตรวจหาสารที่ผลิตจากเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจมีความแม่นยำไม่สูงมากนัก แต่สามารถช่วยแพทย์ได้ในการตรวจหามะเร็งบางกรณี หากพบมีการเปลี่ยนแปลงระดับต่อเนื่องในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

หรืออาจใช้ช่วยติดตามการรักษา หรือบอกการพยากรณ์โรคได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศันสนีย์ เสนะวงษ์
ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น