ร้อนนี้... เลือกกินอาหารอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

บทความโดย คุณศุภลักษณ์ ทองนุ่น นักโภชนาการ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1

อากาศร้อนอย่างนี้ หลายคนเริ่มมองหาไอศกรีม ข้าวแช่ หวานเย็นแท่ง ฯลฯ ที่ชุ่มชื่น เย็นฉ่ำ ช่วยลดอุณหภูมิรอบข้างลงไปได้อีกหลายองศา

ช่วงหน้าร้อน เรามักจะรู้สึกเพลียๆ ไม่อยากออกกำลังกาย ไม่อยากออกไปข้างนอก นั่งมองแดดแล้วก็คิดว่านั่งเล่นอยู่กับบ้านดีกว่า ทั้งๆ ที่ตั้งใจไปเล่นกีฬา ออกกำลังกายกับเพื่อนๆ ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับสภาพอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่า สามารถทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมีชีวิตชีวาขึ้นค่ะ

อาการเพลียในหน้าร้อน เกิดจากอะไร
พญ.เรขา กลลดาเืรืองไกร อธิบายว่า สาเหตุที่เรารู้สึกเพลียช่วงหน้าร้อน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่สูงขึ้น แสงแดดส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เหงื่อออกมากขึ้น (Dehydration) ร่างกายต้องสูญเสียสารเกลือแร่ (Electrolyte) ไปกับเหงื่อ ซึ่งเรามักจะรู้สึกว่ากระชุ่มกระชวยขึ้นเืมื่อดื่มน้ำเกลือแร่

เนื่องจากเกลือแร่ในน้ำดื่ม สามารถดูดซึมไปทดแทนสิ่งที่เสียไปทางเหงื่อได้ในทันที (เร็วกว่าอาหาร) ที่สำคัญ น้ำเป็นตัวสำคัญที่ช่วยควบคุมและปรับสมดุลอุณหภูมิของร่างกาย ดังนั้นสังเกตได้ว่าถ้าเราได้รับน้ำน้อย ผิวและริมฝีปากจะแห้ง

ทำไมจึงควรระมัดระวังการทานอาหารในหน้าร้อน
ช่วงหน้าร้อน ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายๆ เนื่องจากระบวนการย่อยอาหารต้องใช้พลังงานเป็นอย่างมาก การย่อยอาหารเป็นกระบวนการใช้พลังงานมากที่สุดอย่างหนึ่งของร่างกาย ปริมาณพลังงานที่ใช้มากกว่าการวิ่ง การว่ายน้ำและการขี่จักรยาน ถ้าเรารับประมานอาหารที่ย่อยยากๆ เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วง อาหารที่มีกะทิเยอะๆ อาหารทอด ฯลฯ ช่วงหน้าร้อน ร่างกายที่อ่อนเพลียจากการสูญเสียเกลือแร่ไปกับเหงื่อเป็นจำนวนมาก จะทำให้ย่อยอาหารได้ช้าลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยกว่าปกติ จึงเกิดอาการง่วง ซึมและอ่อนเพลีย (Fatigue)

ถ้าเรารับประทานอาหารที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศร้อนๆ ของบ้านเรา ก็จะช่วยให้เรารู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงซึม โดยควรเริ่มจากการรับประทานอาหาร ดังนี้
  • ควรรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ตามแนวแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine)
  • ควรรับประทานอาหารที่มีลักษณะเป็นน้ำๆ (Soft, Liquid Diet)
  • ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
  • ควรดื่มน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง (Room Temperature) คือ 25 องศาเซลเซียส และควรจิบน้ำตลอดเวลา เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสม ซึ่งช่วยทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าและรู้สึกสดชื่น ไม่อ่อนเพลีย
ทานอะไรดี จึงจะช่วยคลายร้อน
อาหารที่ควรรับประทาน
  • กลุ่มคาร์โบไฮเดรต วุ้นเส้นที่ทำจากแป้ง (ไม่ใช่ถั่วเขียว) ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยวสีขาวที่ไม่มีน้ำมัน ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ถั่วเหลือง ฯลฯ
  • กลุ่มโปรตีน ถั่วเหลือง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดฟาง ถั่วขาว ถั่วเขียว ฯลฯ
  • กลุ่มผัก ผลไม้ มะละกอดิบ สายบัว กล้วยดิบ หัวปลี ผักตำลึง ผักบุ้ง ฟัก แฟง แตงกวา บวบ ยอดฟักแม้ว ผักบล็อคเคอรี่ ผักกาดขาว หัวไชเท้า ผักกาดหอม ฯลฯ
กลุ่มสารอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
  • กลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ควรหลีกเลี่ยง ข้าวเหนียว แป้งขัดขาว ข้าวเหนียวดำ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เผือก มัน กลอย อาหารหรือขนมที่มีรสหวานจัด เช่น ไอศกรีม เค้ก ฯลฯ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ
  • กลุ่มโปรตีนที่ควรหลีกเลี่ยง เนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น วัว หมู แพะ ฯลฯ นม ไข่ ถั่วลิสง ถั่วทอด เต้าเจี้ยว มิโซะ โยเกิร์ต ฯลฯ
  • กลุ่มไขมัน กะทิ มะพร้่าว ไขมันสัตว์ต่างๆ เนื้อสัตว์ติดมัน เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ น้ำมันพืช ฯลฯ
  • กลุ่มผัก ผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงผักที่เป็นหัว เช่น เผือก มันเทศ มันฝรั่ง แครอท บีทรูท มันสำปะหลัง ฯลฯ เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้เป็นกลุ่มอาหารที่ย่อยยาก กระเพาะอาหารใช้พลังงานในการย่อยสูง ส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย รวมทั้งกลุ่มผักที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ใบกะเพรา ใบแมงลัก กระชาย ยี่หร่า พริก ต้นหอม หอมหัวใหญ่ กระเทียม ขิง ข่า ขมิ้น ไพล ฯลฯ ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือทานในปริมาณที่น้อยลงเช่นกัน
ร้อนนี้ อย่าลืมใ่ส่ใจกับการทานอาหารเพิ่มขึ้นอีกนิดนะคะ เพื่อสุขภาพของตัวคุณเอง


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น