สุขจน "ลืมกลืน"

บทความโดย พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1

เมื่อพูดถึงเรื่องความหวานที่อยู่รอบๆ ตัว นอกจากลูกอม ขนมเค้ก คุกกี้แล้ว ขนมไทยๆ อีกมากมายก็เป็นที่มาของความหอมหวาน

ขนมไทยนั้น นอกจากจะมีกรรมวิธีการผลิตที่วิจิตรบรรจงแล้ว การตั้งชื่อก็มักจะมีที่มาที่ไป และอธิบายสรรพคุณของขนมนั้นๆ จนแทบจะนึกรสชาติออกทันทีที่ได้ยินชื่อ

ขนมไทย "ลืมกลืน" ทำมาจากแป้งถั่วเขียวเป็นหลัก แต่งกลิ่นด้วยน้ำจากดอกมะลิ เติมความหวานด้วยน้ำตาล จัดมาพอดีคำรูปสี่เหลี่ยมวางบนใบตอง และโรยหน้าด้วยกลีบดอกไม้สีสวยสด ด้วยเป็นอาหารที่ทำให้คนที่รับประทานมีความสุข ความเพลิดเพลินกับรูป รส กลิ่น สัมผัสละมุนบนลิ้นเสียจนไม่อยากจะกลืน ทำให้คนโบราณยกย่องในคุณสมบัตินี้จนขนานนามให้

ขนมลืมกลืนเปรียบไปก็คล้ายกับชีวิตของคนเราในช่วงที่ตกอยู่ในห้วงแห่งรัก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นช่างหอมหวาน มองอะไรเป็นสีชมพู จนหลายคนหลงเพลิดเพลินกับความหวานแบบนี้จนลืมคิดไปว่า ความรักมันย่อมมีวันจืดจาง

บางครั้งมากกว่าจืดจางด้วยซ้ำ คือ หายไปไม่มีเหลือเลย ก็มีอยู่บ่อยๆ ซึ่งหากเรายึดติดย่อมนำไปสู่ความทุกข์จากการสูญเสีย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องของความไม่เที่ยง บางคนลืมไปว่าต้องมีการพลัดพรากจากกันไป ไม่จากเป็นก็จากตาย








หลายคนตามหารักแท้ครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านไปครึ่งชีวิตก็ไม่พบ ลืมไปว่าต้องให้ความรักกับตนเอง (ในทางที่ถูก) และกับครอบครัว คนรอบข้าง หลายคนต้องการความรักจากคนอื่น แม้ว่าจะเป็นได้แค่กิ๊กเท่านั้น หลงลืมไปว่าการกระทำนั้นๆ อาจทำให้ตนเองเสียใจเมื่อกลับมาหวนคิดถึงตอนหลัง หรืออาจสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวอื่น ผิดศีลธรรมหรือสร้างกรรมใหม่ที่ไม่ดีแก่ตนเอง

เดือนแห่งความรักผ่านมาอีกครั้ง อย่าลืมทำให้มันผ่านไปแบบที่เราได้เรียนรู้มากขึ้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น